วันที่ถอดหมวก หนึ่งในชุดหนังสือเอสเส ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงวัยชราของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังจากที่เขาได้ฟันฝ่าในสมรภูมิการเมืองกับรัฐเมื่อวัยหนุ่ม มาจนถึงการฟันฝ่าสมรภูมิภายในในช่วงกลางคน กระทั่งคลี่คลายออกมาเป็นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในปัจจุบัน หมวก คือไอคอนประจำตัวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเริ่มแต่เมื่อไรเจ้าตัวคงจำไม่ได้ รู้ตัวอีกทีหมวกก็กลายเป็นความเคยชินในชีวิตไปแล้ว ดังที่เราได้เห็นภาพของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงกลางคน หมวกไม่เคยห่างหายไปจากกายเลย แต่เมื่อช่วงชรามาถึง ไอคอนประจำตัวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้หายไป มีเพียงเส้นผมขาวโพลนอันเป็นไปตามวัยเท่านั้นที่เห็น แล้วเราก็แทบไม่เจอหมวกของเขาอีก ส่วนเหตุผลถึงการถอดหมวกนั้น หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวไว้โดยละเอียด อันที่จริง เหตุผลการถอดหมวกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเรื่องน่าสนใจประการหนึ่ง หากประเด็นถึงการครุ่นคิดในการถอดหมวกนั้นยิ่งน่าสนใจกว่า ระบบระเบียบวิธีคิดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มีต่อการสละละวางตัวตนนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันเกิดจากการพิจารณาอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงถึงสภาวะที่มีในธรรมชาติของตนเอง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ครั้งหนึ่งเคยเป็นแกนนำนักศึกษาเคลื่อนขบวนประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, นักปฏิวัติสังกัดค่ายคอมมิวนิสต์ ภายหลังยอมจำนนมอบตัวต่อรัฐบาล, อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักคิดนักเขียน และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์